การแต่งกาย
ผู้หญิง นุ่ง Patoi (มีลักษณะคล้ายผ้านุ่งของไทย) นิยมทำเป็นลายทาง ๆ เชิงผ้าเป็น สีแดงแก่ หรือน้ำตาลเข้ม ถ้าผ้านุ่งเป็นไหม เชิงก็จะเป็นไหมด้วย มักจะทอทองและเงินแทรกเข้าไป ไว้ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้
ผู้ชาย นุ่ง Patoi เป็นการนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อชิ้น นอก กระดุมเจ็ดเม็ด
3.การแต่งกายประจำชาติเมียนมาร์
การแต่งกาย
การแต่งกายสำหรับผู้หญิงพม่า
ตามตำราโลกนิตของพม่ากล่าวไว้ว่า หญิงที่จัดว่างามนั้นต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการ ได้แก่ ๑.มีผิวพรรณดี ๒.มีดวงตาสดใสดั่งตากวาง ๓.มีเอวคอด ๔.มีขาเรียว ๕.มีผมดกดำ ๖.มีฟันเป็นระเบียบ ๗.มีสะดือบุ๋ม และ ๘.มีความประพฤติดีงาม ความงามตามโลกนิตดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นความงามโดยกำเนิด มีเพียงประการสุดท้ายที่เป็นความงามอันเกิดจากการบ่มเพาะอุปนิสัย สำหรับการแต่งกายนั้น มิได้กำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของความงาม อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงพม่าก็มีค่านิยมในเรื่องของความงามที่ดูจะสอดคล้องกับโลกนิต ผู้หญิงพม่าที่ดูงามนั้น จะต้องมีผิวพรรณสดใส ดวงตาคม เอวคอด สะโพกผาย ผมดำดุจปีกแมงพลับ ฟันเป็นระเบียบ และมีอุปนิสัยการแต่งตัวที่ดูสะอาดตา พร้อมกับรู้จักวางท่าทางให้อ่อนโยน และอาจเสริมแต่งเรือนกาย อาทิ ทาแป้งตะนาคาให้ดูนวล สระผมด้วยส้มป่อย เขียนคิ้วและขอบตา ทาปากเข้ม นุ่งผ้ารัดรูป และสวมเสื้อเอวลอย เป็นต้น
ในด้านการแต่งกายนั้น ผู้หญิงพม่าจะนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อเอวลอย มุ่นมวยผม แซมดอกไม้ และทาแป้งตะนาคา ในโอกาสสำคัญอย่างงานบุญหรืองานพิธี อาจประดับกายด้วยอัญมณีตามแต่ฐานะ และต้องมีผ้าบางคล้องไหล่ โดยทั่วไป ผู้หญิงพม่าจัดได้ว่าเป็นผู้ที่รักสวยรักงาม ชอบแต่งหน้าทาปาก ทาเล็บมือเล็บเท้า รายได้ที่หามาได้เป็นพิเศษมักหมดไปกับการซื้อเสื้อผ้าอาภรณ์ ดังมีคำกล่าวว่า "จะจนยากสักเพียงไร ก็ต้องแต่งกายให้ดูงาม"
ผู้หญิงพม่าส่วนมากจึงมักพิถีพิถันกับเรื่องการแต่งกายเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่การดูแลเรือนผม การทัดดอกไม้ การแต่งหน้าทาเล็บ การประดับด้วยอัญมณี กำไลมือ กำไลเท้า สร้อยคอ และตุ้มหู การสวมเสื้อ ซิ่น และผ้าคลุมไหล่ การติดกระดุม ตลอดจนการสวมรองเท้า นอกจากนี้ยังมีกระเป๋าถือ บุหรี่ขี้โย และร่ม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับสำหรับผู้หญิงพม่า ซึ่งจะขอกล่าวโดยละเอียดดังนี้
เรือนผม
ความงามตามนัยของโลกนิตนั้น อาจยากที่จะกล่าวได้ว่า ส่วนไหนของกายที่สำคัญต่อความงามมากที่สุด อย่างไรก็ตามชาวพม่าจะมองว่าเรือนผมมีส่วนช่วยให้ผู้หญิงมีความงามได้มากกว่ากายส่วนอื่น เหตุนี้หญิงสาวพม่าจึงต้องหมั่นดูแลเรือนผมของตนเป็นอย่างดี ผู้หญิงพม่าจะมีวิธีมุ่นมวยผมหลายรูปแบบให้ดูเหมาะกับใบหน้าและบุคลิก เพราะหากไว้ทรงผมที่ไม่เหมาะกับตนแล้ว อาจทำให้หมดงาม ดังคำกล่าวว่า “หญิงนั้น แม้งามด้วยกาย ก็อาจหมดรูปได้เพราะมวยผม” ผู้หญิงพม่าจึงต้องดูแลรักษาเส้นผมเป็นอย่างดีและถือเป็นของสูง ชาวพม่าจะให้ความสำคัญต่อเรือนผมโดยนำไปเปรียบกับพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าที่ต้องหมั่นบูชา นอกจากนี้ ผู้หญิงพม่าที่ไว้ผมยาว เมื่อถึงคราวที่ต้องตัดผมให้สั้น หรือโกนผมเพื่อบวชชี ก็มักจะเก็บผมของตนไว้ในที่สูง หรืออาจนำไปถวายไว้ที่วัด บางคนเมื่อผมหลุดร่วง จะไม่ปล่อยทิ้งไว้กับพื้น แต่จะห่ออย่างดีแล้วนำไปลอยน้ำ นอกจากนี้ พม่ายังมีธรรมเนียมการโกนผมไฟให้กับเด็กทารก ผู้ใหญ่จะต้องนำผมไฟไปลอยน้ำ ห้ามโยนทิ้ง เพราะเกรงว่าเด็กจะถูกคุณไสย์
นอกจากการมุ่นมวยผมแล้ว หญิงสาวพม่ายังนิยมถักเปีย และดัดผม การไว้ผมเปียและดัดผมนี้ นิยมมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมจนถึงสมัยอิสรภาพ ในปัจจุบันการไว้ผมเปียยังคงนิยมอยู่และดูจะเป็นที่นิยมมากกว่าการดัดผม เปียที่นิยมไว้กันนี้มีทั้งเปียเดี่ยวและเปียคู่ ส่วนการไว้ทรงผมแบบใหม่ๆโดยเลียนแบบความนิยมจากภายนอกก็มี อาทิ ทรงจูเลียต จากหนังเรื่องโรเมโอและจูเลียต และทรงเลดี้ไดอะนา ทรงจูเลียตได้หมดความนิยมไป เมื่อ ค.ศ.๑๙๘๔ แต่ทรงเลดี้ไดอะนายังนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน ส่วนการย้อมสีผมก็เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นพม่าเช่นกัน อย่างไรก็ตามเด็กหนุ่มจะนิยมย้อมผมมากกว่า
การทัดดอกไม้
เนื่องจากสาวพม่านิยมไว้ผมยาว ทั้งยาวประไหล่ ยาวคลุมก้น และมีบางคนไว้ยาวถึงข้อเท้า ด้วยเหตุนี้ การเกล้าผมมวยจึงเป็นสิ่งจำเป็น และการทัดดอกไม้ก็กลายเป็นธรรมเนียมของผู้หญิงพม่าไปด้วย ดอกไม้ที่นิยมมีหลายชนิด ทั้งที่มีกลิ่นหอม เช่น มะลิ และที่มีสีสันสวยงาม เช่น กุหลาบ ส่วนดอกไม้ต้องห้ามและไม่นำมาแซมผม คือ ดอกชบา ด้วยถือว่าเป็นดอกไม้สำหรับทัดหูให้กับผู้ตายเท่านั้น
การประดับอัญมณี
ชาวพม่าถือว่าเพชรพลอยนอกจากจะเป็นของมีค่าแล้ว ยังเป็นสิ่งมงคลอย่างหนึ่ง ดังมีคำกล่าวว่า "ทับทิมเกร็ดน้อย มีค่าควรเมือง" หญิงสาวพม่าจึงมักจะรักสวยรักงาม บ้างสวมกำไลซ้อนเรียงจนถึงข้อศอก บ้างสวมสร้อยจนเต็มคอ บ้างสวมแหวนเต็มมือ และบ้างก็กลัดเข็มกลัดอันใหญ่ครบชุด นอกจากอัญมณีจะให้ความงามและแสดงฐานะแล้ว พม่ายังเชื่อว่าอัญมณีเป็นเครื่องมงคลและมีความหมายที่ดี ดังนี้
ทับทิม หมายถึง บุญญาธิการ และ ความรุ่งโรจน์
มรกต หมายถึง ความสงบเย็นและสันติสุข
เพชร หมายถึง ความสามารถ
ไพลิน หมายถึง ความเมตตา
โกเมน หมายถึง พละกำลัง
บุษราคัม หมายถึง พลานามัย
ปะการัง หมายถึง ความยิ่งใหญ่
มุก หมายถึง สิริมงคล
เพชรตาแมว หมายถึง อำนาจและความสำเร็จ
กำไลเท้า
นอกจากอัญมณีดังกล่าว ผู้หญิงพม่ายังนิยมประดับกายด้วยทอง ทำเป็นกำไลข้อเท้า สร้อยคอ ตุ้มหู ปิ่นปักผม หวีเสียม ในส่วนของกำไลนั้น สวมได้ทั้งที่ข้อมือและข้อเท้า พม่านิยมสวมกำไลเท้ามาแต่อดีต โดยเฉพาะชาวพม่าที่มัณฑะเลจะนิยมใส่กำไลเท้าที่อาจทำด้วยทองหรือเงิน แต่บางคนไม่นิยมกำไลเท้าที่ทำด้วยทอง ด้วยเหตุผลว่าทองใช้เป็นของสูงสำหรับปิดองค์พระ จึงไม่เหมาะที่จะสวมไว้กับเท้า และจะทำให้อำนาจพุทธคุณเสื่อมได้ ในปัจจุบันการใส่กำไลทองไม่เป็นที่นิยมกันนัก แม้แต่คณะละครรำก็ไม่สวมกำไลเท้ากันแล้ว อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีความนิยมประดับข้อเท้าด้วยสร้อยทองแทนกำไล
สร้อยคอ
ผู้หญิงพม่านิยมสวมสร้อยคอ แต่ลักษณะของสร้อยคอจะต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น ในสมัยราชวงศ์รัตนโบ่งหรือสมัยมัณฑะเลนิยมสวมสายสร้อยจนปิดลำคอ ในสมัยอาณานิคมนิยมสร้อยมุก และสร้อยทองเส้นหนาที่ผลิตในไทย ซึ่งเรียกว่า โยดะยาบัตโจ (p6bt9pkt49N!dbt) ก็เคยเป็นที่นิยมในพม่าเช่นกัน
ตุ้มหู
ตุ้มหูเป็นเครื่องประดับชิ้นหนึ่งของผู้หญิงพม่า ในอดีตทั้งชายและหญิงพม่านิยมใส่ตุ้มหู พม่าถือว่าตุ้มหูช่วยเสริมความงาม และทำให้ใบหน้าดูแจ่มใส ดังคำกล่าวที่ว่า “แก้มผ่องใส ด้วยประกายตุ้มหู” ในสมัยก่อนผู้ชายที่มีฐานะดีจะประดับหูด้วยมุก นิล หรือพลอยแดงขนาดเท่าลูกหมากย่อมๆ ส่วนคนทั่วไปจะนิยมใส่ตุ้มหูทำดัวยหยก แก้ว หรือใบลานมวน หรือ อาจเป็นตุ้มหูที่ทำด้ายขนแกะ นอกจากนี้ นักรบอาจเอาชายโสร่งมามวนเสียบเป็นตุ้มหู
เสื้อ
ตามธรรมเนียมพม่า ผู้หญิงจะสวมเสื้อป้ายอกหรือผ่าอก มีแขนยาวและเอวสั้น ติดกระดุมแป็ะ หรือ กระดุมรังลายดอกอย่างจีน เสื้อป้ายอกนี้เรียกว่า “ยีงโพงอีงจี” ซึ่งมีความหมายว่า “เสื้อคลุมอก” พอถึงสมัยอิสรภาพจนถึงปัจจุบัน หญิงสาวจะสวมใส่เสื้อตามสมัยนิยมมากขึ้น เช่น เสื้อเบลาส์ เสื้อเชิ้ต เสื้อยืดคอกลม ทั้งแบบตัวโคร่งและรัดรูป มีทั้งคอปิดและคอกว้าง เสื้อผ้าแบบนี้หาซื้อง่าย ทำให้เสื้อป้ายอกลดความนิยมในหมู่วัยรุ่น อย่างไรก็ตาม หากต้องออกงานก็ยังคงต้องใส่เสื้อผ่าอก แขนยาว ตัวสั้นตามธรรมเนียมพม่า และหากเป็นพนักงานของรัฐจะต้องสวมเสื้อผ้าแบบพม่าเป็นเครื่องแบบ เสื้ออาจเป็นสีขาวหรือสีเรียบอ่อนๆ โดยเฉพาะครูตามโรงเรียนและอาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องแต่งกายให้ถูกระเบียบ ผู้หญิงต้องสวมเสื้อเอวสั้น แขนสามส่วน โดยเฉพาะในเวลามีงานพิธีหรือคุมสอบ ส่วนดารานักแสดงนั้น นิยมแต่งกายทั้งแบบพม่า และตามสมัยนิยม ผู้หญิงพม่าก็มักเลียนแบบอย่างการแต่งกายจากดารานักแสดง ผู้หญิงพม่านิยมแต่งกายให้งามอยู่เสมอในยามออกนอกบ้าน ส่วนมากมักจะสวมเสื้อผ้าไม่ให้ซ้ำจนบ่อยนัก เหตุนี้ อาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าจึงเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีอาชีพหนึ่ง
สาวพม่านิยมสวมเสื้อคลุมบางๆ จึงต้องใส่เสื้อซับในที่เรียกว่า “บ่อลี” เวลาสวมจะปิดเอวและพุงมิดชิด บ่อลีจึงเป็นได้ทั้งเสื้อยกทรงและเสื้อซับใน เนื้อผ้าบ่อลีมีทั้งผ้าธรรมดาและผ้าลูกไม้ ปัจจุบันสาวพม่าไม่ค่อยนิยมใส่บ่อลีตัวยาวนัก และเริ่มหันมาสวมบ่อลีตัวสั้นหรือบราเซียกันมากขึ้น ที่ใส่บ่อลีมีสายเป็นดิ้นทองก็ยังมี นอกเหนือจากชุดเสื้อป้ายอกและซิ่นแล้ว ยังนิยมชุดที่ตัดจากผ้าปาเต๊ะ ผ้ากิโมโน หรือผ้าลูกไม้ นอกจากนี้ ยังมีความนิยมใส่เสื้อที่ตัดจากผ้า “ผั่งปองชอง” ซึ่งเป็นผ้าใยแก้ว โดยจะสวมทับกับเสื้อบ่อลีสายทอง แต่เนื่องจากผั่งปองชองเป็นผ้าที่ไม่ซับเหงื่อและไม่ระบายลม การใส่เสื้อผ้าเนื้อบางป้ายอก ที่เรียกว่า “ยีงโพงอีงจี่” จึงสวมได้สบายกว่า
สีสันของเสื้อผ้าที่จะใช้สวมออกงาน นิยมใช้สีที่ถือเป็นมงคล อาทิ สีชมพู สีเหลือง สีส้มออกสีทอง สีที่ห้ามสวมในงานมงคล คือ สีดำ (ยกเว้นเสื้อไต้โป่งอีงจี่สีดำสำหรับผู้ชาย ซึ่งสวมในงานพิธี) ในงานแต่งงานเจ้าสาวไม่ควรสวมชุดสีเขียว เพราะในภาษาพม่าคำว่า "สีเขียว" พ้องความหมายกับคำว่า “ห่างเหิน” อีกทั้งผู้หญิงพม่าไม่ค่อยนิยมสีชมพูเข้ม เพราะเป็นสีที่ผู้หญิงแขกนิยม และเรียกสีดังกล่าวว่า “กะลาหย่อง” ซึ่งแปลว่า “สีแขก” พม่าจึงดูจะไม่ค่อยชื่นชอบค่านิยมแบบแขกกันนัก
กระดุม
ในสมัยก่อน เสื้อสำหรับผู้หญิงพม่าจะติดด้วยกระดุมทอง เพชร งาช้าง เปลือกหอย กระดองเต่า หรือกระดุมโยดะยา แต่ในปัจจุบันเสื้อเอวสั้นที่ตัดตามแบบพม่าส่วนใหญ่จะใช้กระดุมแป๊ะ หรือกระดุมปั๊ม กระดุมที่มีมูลค่าสูงจึงเป็นที่นิยมกันในอดีต และหมดความนิยมในปัจจุบัน
ผ้าซิ่น
ผู้หญิงพม่ายังคงนิยมนุ่งผ้าซิ่นกันตลอดมา เช่นเดียวกับผู้ชายที่นิยมนุ่งโสร่ง ลวดลายผ้าโสร่งและผ้าซิ่นของพม่ามีหลากหลาย ในสมัยอาณานิคมนั้นลวดลายที่นิยมกันมาก คือ ลายตะขอ(เชะ)แบบพม่า ลายแบบเมืองยอ ลายแบบเชียงใหม่(ผลิตที่หมู่บ้านอีงเล) ลายแบบทะวาย และลายแบบยะไข่ ลายเหล่านี้เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน และมักใช้สวมออกงาน ซึ่งเรียกว่า ชุดบแวไถ่(x:c56b'N)
ในยุคอาณานิคม ศูนย์กลางของตลอดผ้าจะอยู่ทางตอนล่างของประเทศพม่า ชาวพม่าที่เดินทางมายังเมืองย่างกุ้งมักจะซื้อโสร่งหรือซิ่นเป็นของฝากกลับบ้าน ในปัจจุบัน มีผ้าจากต่างประเทศเข้ามาแพร่หลายในพม่า และเกิดเป็นความนิยมลายผ้าแบบใหม่ ๆ เช่น ลายปาเต๊ะจากอินโดนีเซีย ลายกิโมโนจากญี่ปุ่น และผ้ากำมะหยี่ปักลายดอกต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผ้าลายแบบพื้นเมืองก็ยังคงได้รับความนิยม ด้วยมีคุณสมบัติเด่นเฉพาะตัว อาทิ ผ้ายะไข่เป็นผ้าเนื้อดีสีทน ผ้าเมืองยอสะท้อนความเป็นชาตินิยมสืบมาแต่สมัยอาณานิคม เป็นชุดผ้าซิ่นที่สวมกับเสื้อทอที่เรียกว่า “ปีงนีชอ” ชุดนี้นางอองซานซูจีและสมาชิกพรรค มักสวมใส่ในช่วงหาเสียงคราวที่มีการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ ปัจจุบันชาวพม่าไม่กล้าที่จะใส่ชุดนี้ เพราะกลัวว่าจะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ปัจจุบัน ผู้หญิงพม่านิยมเสื้อผ้าชุดที่ตัดด้วยปาเต๊ะเช่นกัน เพราะสวมสวยได้อย่างสง่าและสุภาพเรียบร้อย ผ้าปาเต๊ะที่นิยมจะเป็นผ้าจากอินโดนีเซีย เล่ากันว่ามีคุณภาพและทนทาน อีกทั้งยังมีลวดลายหลากหลายและมีสีสันสวยงาม ส่วนปาเต๊ะไทยนั้น ไม่เป็นที่นิยมเท่ากับผ้าปาเต๊ะจากอินโดนีเซีย เพราะมีลวดลายให้เลือกน้อย และสีไม่ค่อยสดใส อีกทั้งขนาดของหน้าผ้าไม่พอตัดเป็นชุด ส่วนปาเต๊ะของพม่านั้น แม้ราคาจะถูกกว่าปาเต๊ะจากอินโดนีเซียและไทยก็ตาม แต่สีไม่ค่อยทน จึงไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชนที่พอมีกำลังซื้อ
ผ้าซิ่นของพม่าจะมีลวดลายตามกล่าวมาแล้ว แต่สำหรับชุดสำหรับพนักงานของรัฐนั้น จะกำหนดสีตามสายงานและตำแหน่ง เช่น ครูจะสวมซิ่นสีเขียว พยาบาลระดับหัวหน้าจะสวมสีน้ำเงิน ระดับรองลงมาเป็นสีเขียว และระดับผู้ช่วยพยาบาลจะเป็นสีแดง เป็นต้น
ในสมัยก่อน ผู้หญิงนิยมนุ่งซิ่นยาวคลุมเท้า พอถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงได้หันมาสวมผ้าซิ่นแบบสั้นเปิดถึงน่อง และก็เป็นแฟชั่นในยุคนั้นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ผู้หญิงพม่าสามารถนุ่งสิ่นได้ทั้งสองแบบ ส่วนชุดออกงานและชุดทำงานจะต้องสวมซิ่นให้ยาวถึงตาตุ่มเสมอ มิเช่นนั้นจะถือว่าแต่งตัวผิดจารีต ดังมีกรณีที่นักร้องสาวพม่านุ่งสั้นเลยเข่า รัฐบาลจึงสั่งให้ปิดกิจการของไนต์คลับที่เกิดเรื่องนั้นทันที
ในการนุ่งซิ่นของพม่านั้น จะไม่ต้องใช้สายรัด แต่จะมีหัวซิ่นที่เรียกว่า “อะแท๊ะเสี้ยน” ช่วยให้นุ่งกระชับและไม่หลุดง่าย หัวซิ่นอาจมีสีดำหรือสีเลือดไก่ แต่ที่พบเห็นทั่วไปมักจะเป็นสีดำ หัวซิ่นมีความกว้างราว ๑ คืบ หรือ ราว ๔ นิ้ว ส่วนการนุ่งซิ่นนั้น จะต้องนุ่งให้ตึงกระชับลำตัว ชายซิ่นต้องจัดเก็บให้เสมอกัน จึงจะดูเรียบร้อย ผู้หญิงพม่าจะถูกกำชับให้สวมผ้าซิ่นให้เรียบร้อยอยู่เสมอ แม้ในยามอยู่กับบ้านก็ตาม
ผ้าคลุมไหล่
ในงานพิธีและงานบุญ หรือในเวลาสวดมนต์ไหว้พระ ผู้หญิงพม่าที่เคร่งในประเพณี จะพาดผ้าคลุมไหล่ไว้กับตัวเสมอ และจะเลือกใช้ผ้าที่มีสีสรรเข้ากับชุดเสื้อผ้าที่สวมใส่ และหากเป็นช่วงถือศีล ซึ่งต้องแต่งกายด้วยชุดโยคี ก็จะต้องใช้ผ้าคลุมไหล่เป็นสีโยคี หรืออาจเป็นสีน้ำตาลเข้ม นอกจากนี้ ในงานพิธีหรือการคุมสอบ เจ้าหน้าที่หรือครูอาจารย์ผู้หญิงจะต้องคล้องผ้าคลุมไหล่ ผ้าคลุมไหล่จึงถือเป็นเครื่องแบบสำหรับข้าราชการหญิงของพม่าด้วย
กระเป๋า
ผู้หญิงพม่าทั่วไปนิยมสะพายกระเป๋าหรือถือกระเป๋าติดมือในเวลาออกนอกบ้าน ส่วนนักเรียนและนักศึกษาหญิงมักจะสะพายย่าม โดยเฉพาะย่ามปักไหมพรมแบบมีชายครุยยาวเป็นพู่ ย่ามที่นิยมเป็นย่ามจากรัฐฉาน ที่เรียกว่า ชานลแวเอ้ะ ส่วนในวันรับปริญญา นักศึกษาหญิงจะนิยมพกกระเป๋ามือถือ ดังนั้นกระเป๋ามือถือจึงเป็นส่วนหนึ่งของชุดรับปริญญาไปด้วย
รองเท้า
พม่านิยมสวมรองเท้าคีบกันทั้งชายและหญิง และใช้สวมกับชุดประจำชาติของพม่า รองเท้าคีบสำหรับสวมออกงานมักจะเป็นรองเท้ากำมะหยี่ กล่าวกันว่าพม่านิยมใช้รองเท้าชนิดนี้กันมาตั้งแต่สมัยราชสำนัก ถือเป็นรองเท้าที่ให้ความเป็นสง่าและมีราศี แต่ในชีวิตประจำวันนั้น ผู้หญิงพม่ามักจะสวมรองเท้าคีบที่ทำจากหนัง มีสีสรรและรูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ตามสาวพม่าในยุคปัจจุบัน เริ่มหันมานิยมสวมรองเท้าส้นสูงในโอกาสสำคัญ รองเท้าส้นสูงจึงเป็นรองเท้าสมัยนิยมในยุคนี้
การแต่งหน้าทาเล็บ
แป้งตะนะคาเป็นเครื่องประทินผิวของผู้หญิงพม่ามานับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ตะนะคาเป็นแป้งสมุนไพร ที่นอกจากจะใช้ทาเพื่อความงามแล้ว ยังใช้ถนอมผิว ใช้กันแดด และแก้คัน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับผิวพรรณ และยังเป็นยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อสำหรับเด็กได้ด้วย ชาวพม่าใช้ตะนะคาทาทาได้ทั้งหน้าและลำตัว
ส่วนยาทาคิ้วตำรับเดิมของพม่านั้น จะใช้หมึกแท่งของจีนผสมกับสมุนไพรของพม่าส่วนในการทาปาก ผู้หญิงพม่าเคยนิยมใช้กระดาษสีแดงจากเมืองจีน แต่ในปัจจุบันลิปสติกเป็นที่นิยมและหาซื้อได้ง่ายกว่า
ปัจุบันผู้หญิงพม่านิยมการแต่งหน้าและทาเล็บกันมาก โดยมากจะเรียนแบบอย่างจากดาราและนักร้อง ในโอกาสสำคัญ ผู้หญิงพม่ามักจะต้องแต่งหน้า ด้วยการทาคิ้ว ใส่ขนตาปลอม ทาเปลือกตา ทาแก้ม ทาปาก ทำชั้นตา และนิยมแลเงาบนหน้าให้จมูกดูเป็นสัน แต่งขอบตาให้ดวงตาดูโต ทาเล็บ บ้างย้อมผมและบำรุงผิวพรรณ ในการทาเล็บของผู้หญิงพม่านั้น จะให้ความสำคัญกับการทาเล็บเท้ามากกว่าการทาเล็บมือ เพื่อช่วยให้มองดูสวยและสะอาดตา บางคนนิยมไว้เล็บมือเพียงข้างเดียว อีกข้างตัดเล็บสั้น ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการหยิบจับสิ่งของ
บุหรี่ขี้โย
ในอดีต ภาพหญิงสาวแต่งตัวสวยงาม ที่มือคีบบุหรี่ขี้โยมวนโต เป็นภาพที่เห็นกันเจนตาภาพหนึ่ง โดยเฉพาะผู้หญิงชั้นสูงมักจะถ่ายรูปวางท่าพร้อมกับคีบบุหรี่ขี้โย พม่าเรียกบุหรี่ขี้โยที่ผู้หญิงนิยมสูบว่า เซเปาะเละ ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นภาพผู้หญิงพม่าสมัยใหม่สูบบุหรี่กันมากนัก แต่ก็ยังพบเห็นได้บ่อยในชนบท ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงในวัยกลางคนหรือหญิงสูงอายุ บุหรี่ขี้โยที่นิยมมักมวนด้วยกาบข้าวโพด ส่วนบุหรี่สมัยใหม่ก็นิยมกันไม่น้อย
ร่ม
ร่มเคยเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งสำหรับผู้หญิงพม่า โดยเฉพาะในเวลาถ่ายรูป จะพบภาพหญิงสาวพม่าวางท่าถ่ายรูป ในมือหนึ่งคีบบุหรี่เซเปาะเละ ส่วนอีกมือหนึ่งอาจถือร่ม ร่มที่นิยมในสมัยก่อนนั้น จะเป็นร่มผ้าที่ทำจากเมืองเองด่อยาแถบเมืองมัณฑะเล หรืออาจเป็นร่มทำด้วยผ้าไหม แพร ส่วนด้ามอาจทำด้วยงาช้างหรือเงิน ในภายหลังได้หันมานิยมร่มผ้าลายดอกไม้และทิวทัศน์ ที่ทำจากเมืองพะสิม เรียกว่า ร่มพะสิม หรือ ปะเตงที นอกจากนี้ก็ยังมีร่มผ้าแพรสีดำ และร่มกระดาษไม้ไผ่จากเมืองจีน นับจากสมัยอิสรภาพจนถึงปัจจุบัน ร่มพับที่ทำจากผ้าแพรลายดอกได้รับความนิยมมากขึ้น
อุปนิสัยของหญิงงามแบบพม่า
นอกเหนือจากการแต่งตัวให้ดูสวยแล้ว การวางท่าทางและการแสดงออกของผู้หญิงพม่าก็นับเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ผู้หญิงที่เรียกว่างามพร้อมควรต้องพูดจาสุภาพ ไม่ตะโกนโหวกเวก ไม่ปากร้าย มีกริยาอ่อนโยน ขยัน และไม่ดูดาย เป็นต้น พม่ามีคำว่ากล่าวตักเตือนผู้ที่ทำตัวเกียจคร้านไว้ว่า “ชายขี้เกียจ ชอบเอนหลัง หญิงขี้คร้าน ชอบเหยียดขา” หากลูกผู้หญิงนั่งในท่าเหยียดแข้งเหยียดขา ก็มักจะถูกผู้ใหญ่ดุด่าหรือตักตือน ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น
การแต่งกายสำหรับผู้ชายพม่า
เอกลักษณ์ในการแต่งกายของผู้ชายพม่า คือ นุ่งโสร่งและคีบรองเท้าแตะ หากเป็นชุดประจำชาติจะต้องมีคองบองคลุมศรีษะไว้ด้วย พร้อมกับสวมเสื้อแตกพุงเป็นเสื้อนอก ส่วนเครื่องประดับกายนั้นมีไม่มากเท่าฝ่ายหญิง การแต่งการของผู้ชายพม่าเป็นดังนี้
ผ้าโพกศรีษะ
ผ้าโพกศรีษะถือเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่งของผู้ชายพม่า เดิมเรียกว่า อูยิจ ซึ่งแปลว่า "ผ้าพันหัว" เพราะแต่เดิมนั้นจะใช้ผ้าโพกศรีษะกันจริงๆ แต่ในปัจจุบัน นิยมทำเป็นผ้าครอบศีรษะและสวมอย่างหมวก เรียกว่า คองบอง คือไม่ต้องโพกหัวอย่างอูยิจ ลักษณะของคองบองนั้นจะทำเป็นโครงหวาย มีรูปร่างอย่างสุ่มขนาดพอดีกับศีรษะ และด้านนอกเย็บด้วยผ้าคลุมทับให้เหลือชายผ้าไว้ด้านขวา เวลาจะใช้ก็เพียงหยิบสวมหัวอย่างหมวก การใช้ผ้าโพกศรีษะของผู้ชายพม่ามีมานานแล้วนับแต่สมัยพุกาม ในอดีตผู้ชายพม่านิยมไว้ผมยาวทำเป็นช้องผม และใช้ผ้าโพกผมเก็บผมให้เรียบร้อยอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ ในการใช้ผ้าโพกผมของแต่ละคนนั้น อาจจะโพกผ้าคลุมมิดช้องผม หรืออาจจะเปิดให้เห็นช้องผมก็ได้
ผ้าโพกอาจเป็นผ้าสีพื้นหรือเป็นผ้ามีลาย ในสมัยคอนบองตอนปลายนิยมใช้ผ้าลายมากขึ้น เพราะมีผ้าจากต่างประเทศให้เลือกหลายรูปแบบ ส่วนในปัจจุบันกลับมานิยมคองบองผ้าพื้นสีเรียบ สีที่นิยมได้แก่สีเหลืองอ่อนและสีชมพูอ่อน เพราะถือเป็นสีมงคล ในอดีตการใช้คองบองยังขึ้นอยู่กับฐานะอีกด้วย คองบองจึงมีหลายหลักษณะ เช่น ในสมัยราชวงศ์ ชาววังจะใช้ผ้าโพกผมที่เรียกว่า บองด่อ เป็นผ้าที่ทำด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง ในสมัยอาณานิคมนักศึกษามหาวิทยาลัยมักนิยมโพกผ้าแบบที่เรียกว่า บีเอ-อะปอง โดยจะโพกผ้าให้ด้านหน้าเป็นแถบใหญ่ ด้านหลังเป็นแถบเล็ก พร้อมกับปล่อยชาย ส่วนผู้ชายไทใหญ่จะใช้ผ้าโพกที่ทำด้วยไหมบางๆ มีขนาดยาว ๑๒–๑๕ ศอก โดยด้านหน้าจะพันให้มีชั้นซ้อนไล่กันถึง ๑๒ ชั้น และให้ชายผ้าชี้ขึ้นบน ต่างจากการโพกผ้าของผู้ชายพม่าที่จะปล่อยชายผ้าทิ้งลงล่าง
เดิมทีผ้าโพกศรีษะของผู้ชายพม่าเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน กล่าวคือใช้ในเวลาทำงานหรืออาจใช้ในเวลาขี่ม้าเล่นแข่งขันในยามเย็น มิใช่เกิดมาจากความจำเป็นเนื่องด้วยพิธีการแต่อย่างใด พอถึงปัจจุบัน ผู้ชายพม่ากลับนิยมใช้ผ้าโพกศรีษะเฉพาะในงานพิธี และถือเป็นส่วนหนึ่งของชุดแต่งกาย อีกทั้งถือเป็นเครื่องแสดงศิริมงคล และเป็นตัวบ่งบอกวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของการแต่งกาย ดังนั้นในบางโอกาสที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศ แม้ข้าราชการพม่าอาจต้องใส่ชุดสูทและรองเท้าหนังตามแบบสากลก็ตาม แต่ก็ยังอาจต้องสวมคองบองไว้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงความเป็นชนชาติพม่าในสายตาชาวโลก และยังใช้สื่อความเป็นศิริมงคลในสายตาของชาวพม่าด้วยกัน
เสื้อ
เสื้อสำหรับผู้ชายพม่าจะเป็นเสื้อเชิ้ต อาจเป็นแขนยาวหรือแขนสั้นก็ได้ หรืออาจเป็นเสื้อแขนยาวแบบคอตั้ง มีสีขาว ที่เรียกว่า แลกะโดง เวลาออกงานกลางคืนมักจะใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาว ที่มีสีสุภาพ หรือ เสื้อเชิ้ตแขนยาว ตัดด้วยผ้าบาติก ส่วนในงานพิธีจะสวมเสื้อแลกะโดงพร้อมกับเสื้อนอก ที่เรียกว่า ไต้โป่งอีงจี่ เสื้อไต้โป่งนี้ มักจะเป็นสีเรียบๆ เช่น สีขาว สีเนื้อ สีเทา สีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อน หรือ สีดำ โดยเฉพาะไต้โป่งสีดำนั้น จะเป็นสีสำหรับทนายความ และสำหรับข้าราชการในเวลาออกงานราตรี พม่าถือว่าชุดไต้โป่งเป็นชุดสุภาพ และนิยมสวมใส่ในโอกาสสำคัญ เช่น การเข้าพบผู้ใหญ่ เวลาประชุม งานบุญ หรือ งานพิธี ปัจจุบันเด็กหนุ่มเริ่มหันมานิยมเสื้อเชิ้ต และเสื้อคอกลม กันมากกว่าเสื้อไต้โป่ง
โสร่ง
ผู้ชายพม่าโดยทั่วไปจะสวมโสร่งทั้งในเวลาอยู่บ้านและในยามออกนอกบ้าน ผ้าที่นำมาเย็บเป็นโสร่ง มีทั้งฝ้ายและไหม อาจเป็นผ้าที่ผลิตในประเทศ หรือที่นำเข้าจากอินเดีย ผ้าโสร่งฝ้ายหรือโสร่งจากอินเดียดูจะเป็นที่นิยมสวมอยู่กับบ้าน เพราะเป็นผ้าเนื้อเบาบาง สวมใส่สบาย แต่เมื่อต้องออกงานจะใช้โสร่งผ้าไหม โสร่งฝ้ายยะไข่(ผ้าทอจากรัฐยะไข่) หรือโสร่งฝ้ายจากเมืองยอ(ผ้าทอจากเมืองยอ ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศพม่า) ในสมัยอดีตผ้าทอจากบางกอก ที่เรียกว่า บางเก้าก์โลงจี ก็เคยเป็นที่นิยมของชาวพม่าเหมือนกัน ส่วนในสมัยราชวงศ์ กษัตริย์พม่าจะสวมโสร่งที่มีชายยาววางพาดแขน เรียกว่า ต่องเฉ่ปะโซ ปัจจุบันยังคงเป็นผ้านุ่งสำหรับเจ้าบ่าว สำหรับวัยรุ่นนั้น แม้จะยังคงนิยมนุ่งโสร่ง แต่ก็เริ่มหันมานุ่งกางเกงกันบ้างแล้ว
รองเท้า
ผู้ชายพม่านิยมสวมรองเท้าคีบทั้งในชีวิตประจำวันและในโอกาสสำคัญ โดยเฉพาะในเวลาออกงานจะสวมรองเท้าคีบที่ทำด้วยกำมะหยี่ ยี่ห้อที่นิยมที่สุดและมีคุณภาพดี คือ ตราช้างหกตัว แต่มีราคาแพงมาก คู่หนึ่งตก ๑๕๐๐ จั๊ต ในขณะที่รองเท้าคีบทั่วไปจะมีราคาราว ๓๐๐–๔๐๐ จั๊ตเท่านั้น แต่ถ้าเป็นข้าราชการทหารและตำรวจ ในเวลาสวมเครื่องแบบจะใส่รองเท้าหนังหุ้มส้น
การสักลาย
ในสมัยก่อน ผู้ชายพม่านิยมสักลาย โดยนิยมสักที่เอวจนถึงหัวเข่า สีที่ใช้สักมักจะเป็นสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม และมีบ้างที่ใช้สีแดง พม่ามีคำเรียกลายสัก ๒ คำ คือ โท-กวีง ซึ่งแปลว่า “ลายวงสัก” และ มีงจ่อง แปลว่า “เส้นลายหมึก”
จากข้อเขียนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ จองตาตะดีงส่า ในปี ค.ศ. ๑๙๔๐ กล่าวไว้ว่า การสักลายของพม่าเริ่มในสมัยพระเจ้าโพด่อพญา (ค.ศ.๑๑๔๓–๑๑๘๑) วิธีสักนิยมสักจากเอวจนถึงหัวเข่า ส่วนเหตุที่ชาวพม่านิยมสักลายนั้น เป็นเพราะในสมัยก่อนนั้นเวลาทำนาหรือออกรบมักจะต้องนุ่งแบบถกเขมรอวดต้นขา นอกจากนี้ลายสักยังถือเป็นเครื่องแสดงความเป็นลูกผู้ชาย และถือว่าผู้มีลายสักเป็นผู้ที่มีความอดทนและกล้าหาญ ดังนั้น ผู้ชายที่ไม่สักลาย มักจะถูกดูแคลน นั่นหมายรวมถึงอาจไม่เป็นที่หมายปองของหญิงสาวอีกด้วย
ในการสักลายนั้น นอกจากสักที่เอวจนถึงเข่าแล้ว ผู้ชายพม่ายังนิยมสักบนร่างกายส่วนอื่นอีก เช่น ที่ต้นคอ ไหล่ ท้ายทอย บางคนสักไว้ตามจุดสำคัญทั่วตัว เริ่มจากหัวจรดเท้า ด้วยเชื่อว่าเป็นการป้องกันอันตราย อยู่ยงคงกระพันแบบที่พม่าเรียกว่า “กายสิทธิ” และ “ปิยสิทธิ” อาทิ หากสักที่บริเวณปาก จะช่วยป้องกันพิษที่อาจจะติดมากับอาหาร เป็นต้น การสักจึงไม่เพียงเพื่อแสดงความเป็นลูกผู้ชายเท่านั้น หากยังใช้เป็นเครื่องป้องกันภยันตรายอีกด้วย แต่บางคนก็สักเพียงเพื่อความสวยงามเท่านั้น ส่วนลวดลายที่นิยมสักกันนั้น มีหลายแบบ เช่น เป็นรูปแมว นกคุ้ม จิ้งจก ตัวอักขระ คาถา หรือ ยันต์ต่างๆ แต่ละลายมีความหมายแตกต่างกันไป เช่น ลายแมวบ่งบอกถึงความคล่องแคล่วว่องไว เป็นอาทิ
ปัจจุบัน การสักลายที่เอวจนถึงหัวเข่าไม่ค่อยเป็นที่นิยมของชาวพม่านัก แต่การสักเป็นบางที่เพื่อคุ้มกันตัวนั้นยังคงมีสืบมาจนปัจจุบัน โดยนิยมทั้งในหมู่ชายฉกรรจ์หรือ พระสงฆ์ นอกจากนี้การสักเพื่อความงามหรือเพื่อความโก้เก๋ยังนิยมในหมู่วัยรุ่นอีกด้วย การบริการสักลายยังสามารถพบเห็นได้อยู่เสมอในงานวัด แต่มิใช่เป็นการสักด้วยเครื่องมือแบบเก่า หากเป็นวิธีสักด้วยมอเตอร์ ผู้รับบริการสามารถเลือกลวดลายได้มาก และใช้เวลาในการสักไม่นานนัก
นอกเหนือจากการแต่งกายของผู้ชายและผู้หญิงชาวพม่าดังกล่าวมาแล้วนั้น ในส่วนของการแต่งกายของเด็กพม่า พบว่าปัจจุบันเด็กผู้ชายพม่าที่อยู่ตามชนบทจะยังคงนิยมนุ่งโสร่งกันมากกว่าเด็กที่อยู่ในเมือง ซึ่งหันมาสวมกางเกงขาสั้นกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่วนเสื้อก็มักจะเป็นเสื้อเชิ้ต แต่สำหรับครอบครัวที่มีฐานะ มักจะสวมเสื้อยืด ในทำนองเดียวกัน เด็กผู้หญิงในชนบทจะยังคงนิยมนุ่งผ้าซิ่น ในขณะที่ในเมืองนั้น พบว่ามีทั้งนุ่งกางเกงและนุ่งกระโปรง พอโตเป็นสาวจึงจะหันมานุ่งผ้าซิ่นแทน สำหรับชุดนักเรียนนั้น ในระดับชั้นประถม ๑-๔ ผู้ชายจะสวมกางเกง ส่วนผู้หญิงจะนุ่งกระโปรง เป็นสีเขียวทั้งชายและหญิง ส่วนเสื้อจะเป็นสีขาว สำหรับเด็กระดับชั้นประถม ๕–๑๐ ผู้ชายจะนุ่งโสร่งและผู้หญิงจะนุ่งซิ่น และมีสีเขียว ส่วนเสื้อนั้นเป็นสีขาว
นอกเหนือจากการแต่งกายของชาย หญิง และเด็กดังกล่าวมาข้างต้นนั้น หากเป็นพนักงานของรัฐ ก็จะมีการกำหนดชุดเป็นเครื่องแบบโดยเฉพาะ อาทิ ทหาร ตำรวจ และบุรุษไปรษณีย์จะมีชุดเครื่องแบบ หากเป็นผู้ชายจะสวมกางเกง ผู้หญิงจะสวมกระโปรงยาวลงมาครึ่งน่อง สีสำหรับตำรวจ เจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง และทหารอากาศ จะเป็นสีกากี สีเขียวสำหรับทหารบก สีน้ำเงินสำหรับทหารเรือ สีเทานกพิราบสำหรับบุรุษไปรษณีย์ แต่ถ้าเป็นพนักงานประเภทอื่นจะนุ่งโสร่งหรือผ้าซิ่น เช่น ครูโรงเรียนทั้งหญิงและชายจะใส่เสื้อสีขาว นุ่งโสร่งหรือผ้าซิ่นสีเขียว พบว่าครูผู้ชายมักจะใส่โสร่งสีเขียวมีลาย ส่วนครูผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นสีเรียบ ส่วนพยาบาลนั้นจะใส่เสื้อสีขาว และสวมโสร่งสีเขียว น้ำเงิน หรือแดง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ถ้าเป็นพยาบาลฝ่ายปกครองจะนุ่งซิ่นสีเขียว ถ้าเป็นพยาบาลทั่วไปจะนุ่งซิ่นสีน้ำเงิน แต่ผู้ช่วยพยาบาลจะนุ่งซิ่นสีแดง ส่วนพนักงานทำความสะอาดผู้หญิงจะสวมซิ่นสีน้ำเงินและเสื้อสีส้ม
อรนุ